หน้าแรก TRIP เวลาเดินช้า ณ เมืองอุทัยฯ TRIP เวลาเดินช้า ณ เมืองอุทัยฯ โดย Tong Tmotortrip - มิถุนายน 24, 2022 684 0 FacebookTwitterPinterestอีเมลLINECopy URL มีไม่กี่เมืองที่ยังคงรักษาความเป็นเอกลักษณ์ยาวนานจากอดีตถึงปัจจุบัน ได้อย่างต่อเนื่องแม้ไม่คัดค้านในความเจริญแต่ทุกอย่างไม่เปลี่ยนแปลง อุทัยธานีชุมชนเข้มแข็งยึดถือและแน่วแน่กับความเรียบง่าย การเดินทางของผมกับเมืองอุทัยธานีเริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ บอกตามตรงจำไม่ได้ นับจากการเดินทางครั้งนั้นทำให้ผมต้องย้อนกลับมาเมืองนี้อีกกี่ครั้งก็จำไม่ได้ มันคือความเรียบง่ายที่ผมสัมผัสได้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันนี้แทบไม่แตกต่างและเปลี่ยนแปลง อย่างตลาดริมแม่น้ำสะแกกรังยังเป็นแหล่งอาหารและความคึกคักของชาวบ้านทั้งแม่ค้าและผู้ซื้ออาหารมีทั้งของสดและของคาว ผักจะมีเยอะมากเป็นผักปลอดสารพิษเสียส่วนใหญ่เพราะส่วนมากชาวบ้านจะปลูกเองมีไม่กี่ร้านที่รับมาจากที่อื่นขณะเดียวกันปลาสดและปลาแดดเดียวก็ยังเป็นอาหารหลักด้วยความอุดมสมบูรณ์ของสายน้ำทำให้ทุกวันเราจะเห็นแม่ค้านำมาขายกันค่อนข้างเยอะ ถนนเลียบแม่น้ำถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันการพังทลายของดินมีความสะดวกสบาย ทุกเย็นชาวบ้านจะออกมาเดินเล่นเพื่อออกกำลังกายกัน อากาศดีลมแม่น้ำพัดเอื่อยเย็นรู้สึกสดชื่น แม่โอบรอบเกาะเทโพเอาไว้ส่งผลให้การเกษตรได้ผลผลิตตลอดทั้งปียกเว้นช่วงน้ำหลากบางแห่งอาจเสียหายบ้างแต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น ผมเองปั่นจักรยานรอบเมืองไปเรื่อยๆช่วงเช้าหรือเย็นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ทุกครั้งเมื่อออกไปเห็นเมืองรู้สึกชอบบรรยากาศบ้านไม้หลังเก่าคงสภาพเหมือนตอนอดีตบางหลังปรับปรุงให้เป็นร้านหนังสือ ร้านอาหาร ร้านขนมแล้วแต่ความถนัด รถโดยสารแบบสามล้อหรือสกายแลป ยังมีให้เห็นในเมืองนี้ เรือนแพยังคงมีให้เห็นเป็นบ้านเรือนแพที่มีบ้านเลขที่ทุกหลังสามารถอาศัยอยู่ได้ตามปรกติ ในจังหวัดอุทัยธานีเป็นเมืองสุดท้ายที่ยังมีบ้านเรือนแพถูกต้องมีทะเบียนบ้านซึ่งหลังจากนี้ก็ยกเลิกบ้านเรือนแพทั้งหมดไม่อนุญาตให้ใครขอทะเบียนบ้านในแม่น้ำตลอดไป รายได้ส่วนหนึ่งของบ้านเรือนแพในแม่น้ำสะแกกรังคือการทำเกษตรเช่นการปลูกใบเตยส่งขายทั้งในตลาดและภายนอก ไม่เพียงทำน้ำดื่มกลิ่นหอมขายให้ทั่วไป ทว่ายอดใบยังตัดแต่งทำดอกไม้ไหว้พระได้ นอกจากนี้ยังรวมถึงการเลี้ยงปลาในกระชังสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ริมแม่น้ำสะแกกรังไม่ได้มีแค่เรือนแพหรือตลาดเท่านั้นป้อมวัดอุโปสถาราม เดิมชื่อ “วัดโบสถ์มโนรมย์” เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเมื่อ ปีพุทธศักราช 2324 ตั้งอยู่บนเกาะเทโพ ริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรังภายในอุโบสถและวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้านหลังอุโบสถและวิหาร มีเจดีย์ สามยุคสามสมัย ทั้งสมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ตั้งอยู่ นอกจากนั้นยังมีมณฑปแปดเหลี่ยมศิลปะผสมไทย จีน อันวิจิตรอ่อนช้อยงดงาม หน้าวัดมีแพโบสถ์น้ำ ครั้งหนึ่งเคยใช้เป็นแพรับเสด็จ รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 เมื่อคราวเสด็จประพาส และเยี่ยมเยือนหัวเมืองฝ่ายเหนือ และใช้เป็นศาสนสถานลอยน้ำสำหรับชาวเรือนแพใช้ในการปฏิบัติศาสนกิจและงานพิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเช้าหรือเย็นเราจะเห็นความสวยงามของวัดนี้แตกต่างกันออกไปตามเวลา แสงอ่อนส่องกระทบเผยความแตกต่างเส้นแสงและเงาให้ชัดเจนมากขึ้น เวลาคู่ขนานกันกลุ่มจักรยานทั้งเพื่อสุขภาพหรือท่องเที่ยวมักจอดถ่ายภาพจากบนสะพานลงมายังด้านล่าง จะเห็นฉากหน้าเป็นสายน้ำด้านหลังเป็นเรือนแพ ฝั่งเกาะเทโพปัจจุบันยังนิ่งแต่ไม่ปฏิเสธผู้คนมีที่พักแบบโฮมสเตย์เกิดขึ้นรวมถึงร้านอาหาร ทว่าสิ่งเดียวไม่เปลี่ยนไปและสืบสานต่อเนื่อง จากความอุดมสมบูรณ์ของน้ำมีเพียงพอจะเปิดโอกาสให้ชาวนาแย้มยิ้มให้กับทุ่งข้าวเขียวจีในทุกฤดูสมันคือรายได้แม้จะมากบ้างน้อยบ้างแต่สิ่งเหล่านี้คือความสุข บางคนบ่นเหนื่อยล้าเมื่อเจอแดดแรง ต่างจากพวกเขาเหล่านั้น ความคิดและสายเขามองว่าสิ่งเหล่านี้คือวิถีหล่อเลี้ยงครอบครัวให้ผ่านพ้นช่วงเวลายาวนานจนถึงวันนี้ หลายคนสงสัยทำไมนักปั่นส่วนใหญ่ยกให้สถานที่แห่งนี้เป็นหนึ่งในปลายทางนักปั่นต้องมาให้ถึง เหมาะสำหรับขี่จักรยานเชิงท่องเที่ยวอากาศดีรถน้อยไม่อันตราย พื้นที่ตำบลเกาะเทโพเป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมขังทั้งตำบล ในอดีตตำบลเกาะเทโพมีลักษณะเป็นอ่าว แม่น้ำมีปลาชุกชุมมากโดยเฉพาะปลาเทโพจึงเรียกขานกันว่า ตำบลเกาะเทโพตำบลเกาะเทโพแยกมาจากจังหวัดชัยนาทเมื่อปี 2480 ราษฎรส่วนใหญ่อพยพมาจากชัยนาท นครสวรรค์และที่อื่นๆมีชื่อหมู่บ้าน 2 ชื่อคือ บ้านท่ารากหวาย และ บ้านเกาะเทโพ จุดเด่นอีกอย่างคือเกาะเทโพแห่งนี้คือเกาะน้ำจืดใหญ่ที่สุดในประเทศ ด้านความศักดิ์สิทธ์ของพระพุทธศาสนาเมืองอุทัยธานีถือเป็นจังหวัดที่โรงแรมเต็มเสมอในช่วงวันสำคัญด้านศาสนา มาถึง ไม่ว่าจะเป็นวัดสังกัสรัตนคีรี เป็นวัดอยู่ในเมืองตั้งอยู่บนยอดเขามองเห็นได้แต่ไกลมองจุดเด่นคือประเพณีตักรบาตรเทโวฯทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 จะมีพระสงฆ์กว่า 500 รูป เดินลงมาตามบันได 449 ขั้น จากมณฑปบนยอดเขาสะแกกรังสู่ลานวัดสังกัสรัตนคีรีเบื้องล่าง เพื่อมารับบิณฑบาตทั้งนักท่องเที่ยวและช่างภาพต่างเฝ้ารอเพื่อให้วันนี้มาถึง เพื่อให้ได้ภาพอันสวยงามนำไปเผยแพร่ แต่สำหรับผมแล้วไม่ใช่เพียงประเพณีเท่านั้นเพราะในทุกวันนักท่องเที่ยวสามรถเดินทางมาถึงด้านบนได้ด้วยรถยนต์กราบพระขอพรแล้วไม่ต้องเร่งเวลาให้สูญเปล่า จากบนวัดสามารถมองเห็นเมืองอุทัยธานีได้ทั้งเมืองรวมถึงแม่น้ำสะแกกรังชัดเจน ขณะเดียวกันหากจะทักทายกับดวงอาทิตย์ก่อนลาลับขอบฟ้าย่อมทำได้หากไม่มีฝุ่นหมอกหรือควันมาบดบังความสวยงามก็ยังเผยให้เห็น ห่างกันไม่ไกลวัดท่าซุงยังคงเป็นจุดสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ต้องเดินทางมากราบหลวงพ่อฤษีลิงดำสักครั้ง รวมถึงชมความงดงามของปราสาททองคำอยู่ด้านหลังของวิหาร ส่วนใหญ่แล้วใครได้เห็นวิหารแก้วร้อยเมตรที่ประดิษฐานสรีระสังขารขององค์หลวงพ่อที่ยังคงสภาพไม่เน่าไม่เปื่อย และองค์พระพุทธชินราช ก็จะรู้สึกถึงความวิจิตรงดงามการประดับตกแต่งวิหารด้วยกระเงาทั้งหมด ทั้งนี้วิหารสมเด็จองค์ปฐมก็มีความงดงามไม่ต่างกัน ทุกวันไม่จำกัดเพียงวันหยุดนักท่องเที่ยวจะเดินทางมาค่อนข้างมาก วิหารแก้วจะมีเวลาเปิด-ปิดให้เข้าชม 2 รอบต่อวันคือ 09.00-11.30 น. และ 13.00-16.00 น ดังนั้นใครอยากไปต้องเช็คเวลาให้ดีจะได้ไม่พลาดเวลาเข้าชม แสงอ่อนของดวงอาทิตย์กำลังโรยตัวเข้าปกคลุมเมืองให้ค่ำคืนได้ทำหน้าที่ของเขา ผมรู้สึกถึงความสงบเงียบเมืองแห่งนี้ยังไม่เร่งรีบร้อนรนเหมือนกับหลายจังหวัดที่เปิดให้ความเจริญเข้ามาถึง นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยที่ให้ความสำคัญกับจังหวัดนี้ ด้วยเสน่ห์และวิถีเรียบง่ายของผู้คนทำให้อุทัยธานีกลายเป็นปลายทางให้กับผู้ชื่นชอบตัวตนแบบช้าเนิบยังมีให้เห็น แล้วพบกันฉบับหน้าครับ ข้อมูลการเดินทาง จากทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท แล้วเลี้ยวซ้ายตรงทางแยกท่าน้ำอ้อย บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 206 เข้าทางหลวงหมายเลข 333 ข้ามสะพานแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร ผ่านหน้าโรงพยาบาล เลี้ยวซ้ายเข้าตลาดอุทัยธานี บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมจากผู้เขียน “สุรชัยปลาเผา” รสมือจัดจ้าน ย่านสุพรรบุรี วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหารแหล่งศรัทธานนทบุรี CUB House ยกขบวนมันส์ที่ Hola Shaka 2024 ทิ้งคำตอบไว้ ยกเลิกการตอบ กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ! กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่ คุณป้อนที่อยู่อีเมลไม่ถูกต้อง! กรุณาใส่ที่อยู่อีเมลของคุณที่นี่ Δ